เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน บทบาทเหล่านี้มีแนวโน้มที่สำคัญมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่จึงควรเรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ก้าวหน้าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
ในยุคปัจจุบันคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากราคาคอมพิวเตอร์ที่ไม่แพงและสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ธนาคาร ธุรกิจต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล สถานที่ราชการต่างๆ งานบันเทิง และงานด้านความมั่นคงของชาติ ได้นำในส่วนงานต่างๆ มีการนำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษา
คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทกับกระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษาอย่างมาก นอกจากจะสามารถอำนวยความสะดวกในการทำงานของสำนักงานแล้ว ครูผู้สอนสามารถนำคอมพิวเตอร์มาสร้างสื่อการเรียนการสอนได้อย่างสวยงายและมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถนำมาสร้างสื่อการเรียนการสอน, นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาสร้างระบบการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาสามารถเข้ามาเรียนรู้บทเรียนได้ตลอดเวลาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล และใช้ในการสืบค้นเอกสารทำให้รูปแบบการเรียนรู้มีได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น
รูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในยุคโลกาภิวัฒน์ข้อมูลและความรู้สามารถค้นหาและเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ยึดติดกับสถานที่และเวลาอีกต่อไป เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร ผู้เรียนก็สามารถหาความรู้ได้จากทุกแห่งทั่วโลก ดังนั้นจะพบว่าในการศึกษาระดับต่างๆ ได้เริ่มมีการนำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนในระดับต่างๆ อย่างกว้างขวาง
เทคโนโลยีกับการเรียนการสอน
ปกติเทคโนโลยีจะเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน 3 ลักษณะ คือ
1. การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี (Learning about Technology) ได้แก่ การเรียนรู้ระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ เรียนรู้จนสามารถใช้ระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทำระบบข้อมูลสารสนเทศเป็น สื่อสารข้อมูลทางไกลผ่าน Email และ Internet ได้ เป็นต้น
2. การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี (Learning by Technology) ได้แก่ การเรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ และฝึกความสามารถ ทักษะบางประการ โดยใช้สื่อเทคโนโลยี เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทางโทรทัศน์ที่ส่งผ่านดาวเทียม การค้นคว้าเรื่องที่สนใจผ่าน Internet เป็นต้น
3. การเรียนรู้กับเทคโนโลยี (Learning with Technology) ได้แก่การเรียนรู้ด้วยระบบ การสื่อสาร 2 ทาง (Interactive) กับเทคโนโลยี เช่น การฝึกทักษะภาษากับโปรแกรมที่ให้ข้อมูลย้อนกลับถึงความถูกต้อง (Feedback) การฝึกการแก้ปัญหากับสถานการณ์จำลอง (Simulation) เป็นต้นแนวคิดในการเพิ่มคุณค่าของเทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้
1.การใช้เทคโนโลยีพัฒนากระบวนการทางปัญญากระบวนการทางปัญญา (Intellectual Skills) คือ กระบวนการที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ
(1) การรับรู้สิ่งเร้า (Stimulus)
(2) การจำแนกสิ่งเร้าจัดกลุ่มเป็นความคิดรวบยอด (Concept)
(3) การเชื่อมโยงความคิดรวบยอดเป็นกฎเกณฑ์ หลักการ (Rule) ด้วยวิธีอุปนัย (Inductive)
(4) การนำกฎเกณฑ์ หลักการไปประยุกต์ใช้ด้วยวิธีนิรนัย (Deductive)
(5) การสรุปเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ (Generalization)
ระบบคอมพิวเตอร์มีสมรรถนะสูงที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดในกระบวนการทางปัญญานี้ โดยครูอาจจัดข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ในวิชาที่สอน ให้ผู้เรียนฝึกรับรู้ แสวงหาข้อมูล นำมาวิเคราะห์กำหนดเป็นความคิดรวบยอดและใช้คอมพิวเตอร์ช่วยแสดงแผนผังความคิดรวบยอด (Concept Map) โยงเป็นกฎเกณฑ์ หลักการ ซึ่งผู้สอนสามารถจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนฝึก การนำกฎเกณฑ์ หลักการไปประยุกต์ จนสรุปเป็นองค์ความรู้อย่างมีเหตุผล บันทึกสะสมไว้เป็นคลังความรู้ของผู้เรียนต่อไป
2.การใช้เทคโนโลยีพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น สามารถออกแบบแผนการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำโครงงานแสวงหาความรู้ตามหลักสูตร หาความรู้ในเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ หรือเพื่อแก้ปัญหา (Problem-Based Learning) การเรียนรู้ลักษณะนี้จะเริ่มต้นด้วยการกำหนดประเด็นเรื่อง (Theme) ตามมาด้วยการวางแผนกำหนดข้อมูลหรือสาระที่ต้องการ ผู้สออาจจัดบุญชีแสดงแหล่งข้อมูล (Sources) ทั้งจากเอกสารสิ่งพิมพ์ และจาก Electronic Sources เช่น ชื่อของ Web ต่าง ๆ ให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นคำตอบ สร้างเป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วย และครูช่วยกำกับผลการเรียนรู้ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่ต้องการ ทั้งนี้ครูจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยชี้แนะทิศทางของการแสวงหาความรู้หรือแนะนำผู้เรียนให้พัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพผลการเรียนรู้
แนวทางการประยุกต์ใช้ไอซีทีในการเรียนการสอน
การประยุกต์ไอซีทีในการเรียนการสอนมีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา นักการศึกษาและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันวางแผน ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการจัดหาฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ ปัจจัยสำคัญของการวางแผนที่จะทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จนั้น เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ไอซีทีเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความหมายต่อผู้เรียน
การนำไอซีทีไปใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดผลนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องตัดสินใจในหลายๆด้านได้แก่ ด้านเทคนิค การาฝึกอบรม งบประมาณ วิธีสอน วิธีการเรียนรู้ และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และต้องเรียนรู้ว่าจะนำสิ่งใหม่ที่เรียนรู้นี้มาใช้ให้เกิดผลอย่างไรในการเรียนการสอน
การออกแบบวางแผนการใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียนการสอนให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนหลักของโรงเรียนช่วยให้สถานศึกษามีการนำเทคโนโลยีไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนควรใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนเป้าหมายหลักสูตรของโรงเรียน ใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงและการเปลี่ยนแปลงการสอนสู่การเรียนรู้
กลวิธีการบูรณาการไอซีทีในการเรียนการสอน แบ่งได้เป็น 10 วิธี ดังนี้
1. ใช้ในการศึกษาค้นคว้า รวบรวมสารสนเทศและการวิเคราะห์เป็นวิธีที่นักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตในการรวบรวมประมวลข้อมูลเพื่อตอบคำถาม
2. ใช้ในการสนทนากับผู้เชี่ยวชาญเป็นวิธีใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงนักเรียนกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา ขยายสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรกับสารสนเทศที่เป็นปัจจุบัน และบูรณาการแหล่งเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตสู้ห้องเรียน
3. ใช้เว็บเป็นติวเตอร์หรือผู้สอนเป็นวิธีใช้เว็บนำเสนอบทเรียนออนไลน์วิชาต่างๆ
4. เผยแพร่ผลงานนักเรียนเป็นวิธีนำผลงานนักเรียนเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์โรงเรียนหรือเว็บไซต์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
5. อภิปราย / กระจายความคิด อีเมล์และเว็บใช้เป็นแหล่งความคิดและสารสนเทศ ความคิดเผยแพร่กระจายผ่านอีเมล์ หรือการจัดให้มีกิจกรรมเพื่อทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกวิธีหนึ่งของการแลกเปลี่ยนความคิด กิจกรรมเพื่อทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ใช้ได้กับหลักสูตรทุกหลักสูตร
6. ร่วมมือในการทำโครงงานด้วยกันโดยใช้ทรัพยากรจากเว็บเป็นวิธีให้นักเรียนร่วมมือทำกิจกรรมโครงงาน ทั้งที่นักเรียนอยู่ต่างที่กันโดยใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงประมวลข้อมูลและติดต่อสื่อสาร ร่วมกันคิดและร่วมกันทำ
7. ใช้ทรัพยากรมัลติมีเดียจากอินเทอร์เน็ต เป็นวิธีที่นำภาพและเสียง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วีดีโอ ฐานข้อมูล และทรัพยากรบุคคลเพื่อเสริมการเรียนรู้ในหลักสูตร
8. โลกของการทำงานขึ้นอยู่กับพนักงานที่มีความชำนาญทางเทคนิค จึงจำเป็นต้องเริ่มสร้างทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนี้ให้นักเรียนตั้งแต่ในช่วงที่ยังอยู่ในโรงเรียน
9. ใช้เทคโนโลยีอย่างมีจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นวิธีจัดการเรียนการสอนที่มุ่งสู่การปรับปรุงการเรียนรู้และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนักเรียนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง
10. ผสมผสานการเรียนรู้ด้วยโครงงานหรือการเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหาโดยใช้มัลติมีเดียในการเรียนรู้ด้วยโครงงาน นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำโครงงานด้วยกันและได้รับประสบการณ์จากการผสมผสานทักษะระหว่างวิชา ทั้งจากคณิตศาสตร์ ภาษา ศิลปะ ภูมิศาสตร์วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการเรียนรู้ด้วยโครงงานมีศักยภาพในการเพิ่มความรู้สึกรับผิดชอบ ควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง นักเรียนที่ได้รับการกำหนดเป้าหมายของตนเองจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น
จุดมุ่งหมายของการใช้ไอซีทีในการเรียนการสอน
การนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น โดยทั่วไปจำแนกจุดมุ่งหมาย ออกได้ 3 ประการ คือ
1. เรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จุดมุ่งหมายการเรียนรู้นี้มีเป้าหมายให้นักเรียนเกิดความรู้ความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
2. นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดการสอนของครู ในหลักสูตรวิชาต่างๆ จุดมุ่งหมายนี้ช่วยให้นักเรียนได้รับข้อมูลข่าวสาร
3. นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างชิ้นงานของนักเรียน เป็นการบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับหลักสูตรและเนื้อหา
สรุป
แนวทางการประยุกต์ไอซีทีในการเรียนการสอน เกี่ยวข้องกับการมีความรู้และการทำความเข้าใจถึงศักยภาพของไอซีทีในการสนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดกลวิธีที่จะบูรณาการไอซีทีในการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับสภาพที่เป็นอยู่ การทำความเข้าใจกับจุดมุ่งหมายของการใช้ไอซีทีว่ามีความครอบคลุมต่อการนำไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างไร และจะจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพในบริบทของความพร้อมที่แตกต่างกันอย่างไร รวมไปถึงการเลือกซอฟแวร์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ตามแนวของนักคอนสตรัคติวิสต์ ที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจถึงบทบาทที่เปลี่ยนไปของครู และการเตรียมตัวของครูต่อการประยุกต์ไอซีทีในการเรียนการสอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น